ถ้าจะบอกว่า Cyberbullying เกิดขึ้นทุกๆ วัน การต่อต้าน Cyberbullying ก็เกิดขึ้นบ่อยครั้งตามกันไป
ช่วงนี้เราเห็นการรณรงค์หลายอย่างเกี่ยวกับโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะ Cyberbullying ที่กลายเป็นประเด็นใหญ่ของสังคม มีหลายคนที่ถูกทำร้ายทั้งในและต่างประเทศ หลายๆ คนเริ่มออกมาบอกว่า เลิกทำร้ายกันด้วยการสาด Hate Speech ใส่กันเถอะ หยุดล้อเลียนคนอื่นในสิ่งที่คนอื่นไม่ชอบ แล้วบอกว่ามันเป็นไม่เห็นเป็นไรเลยเถอะ หยุดแชร์เรื่องผิดๆ หยุดถล่มคนที่ภาวะจิตใจอ่อนแอ หยุดปาขี้ใส่กันซะที… ฯลฯ
การรณรงค์ให้คนเลิกพฤติกรรมเหล่านี้ผุดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ดี เราไม่ควรจะนิ่งเฉยให้มันเกิดขึ้นต่อไป เพราะจริงๆ โลกช่วงหลายปีมานี้มันก็หมุนเร็วเกินไป จนเราวิ่งปรับตัว ปรับทัศนติ ปรับวิธีคิด ปรับวิธีใช้เทคโนโลยี ปรับชีวิต ตามมันไม่ทัน
นึกแล้วก็พาลให้กลับไปคิดถึงสมัยที่ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศบราซิล ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความบ้าคลั่งในความสนุกเฮฮา ปาร์ตี้มันส์ๆ และเรื่องโจ๊กโปกฮา ที่นี่ล้อเลียนกันแรงขนาดที่ว่าไม่กี่วันก่อนรถไฟตกรางมีคนตายมากมาย วันนี้สื่อออกข่าวมาแซวเหตุการณ์เหล่านั้นราวกับเป็นเรื่องโจ๊กน่าขำเสียเหลือเกิน
ตอนนั้นอายุ 16 ปีได้ หัวอ่อนและยังคงมองโลกสวยงามเกินไป สวยงามขนาดคิดไว้ว่า – – ถ้าเราไม่เบียดเบียนใคร ก็คงไม่มีใครมาทำเรื่องไม่ดีกับเราหรอกเนอะ – – ใช้ชีวิตเป็นเด็กสาวธรรมดา สนุกสนานไปวันๆ ตกเย็นเข้าทีมเตะบอลไม่ก็เล่นแฮนด์บอลกับเพื่อนก่อนกลับบ้าน ไม่ได้รวมแก๊งค์ไปป่วนใคร ด่าทอกอสสิปใครก็ยังไม่เป็นเพราะลำพังแค่พูดโปรตุเกสให้รู้เรื่องก็ยากแล้ว (อ่าว…)
แต่แม้เราจะใช้ชีวิตบ๊องๆ บ้าๆ ของเราดีๆ ก็กลับมีเรื่องหนึ่งที่ทำให้เราอึดอัดใจกับมันบ่อยครั้ง คือ เพื่อนสนิทในกลุ่มเราชอบพูดจาดูหมิ่นศาสนาและประเทศของเราเหมือนเป็นเรื่องตลก จุดนั้นนี่แหละที่ทำให้ทัศนคติโลกสดใสเริ่มสะเทือน อะไรกัน? เราไปทำอะไรให้เธอ? เธอเป็นเพื่อนสนิทเรานะ ทำไมเธอต้องมาคอยว่าสิ่งที่เราเคารพนับถือด้วย?
สังเกตดูว่า นี่ไม่ใช่การด่าทอรูปลักษณ์ภายนอก อย่าง ยัยอ้วน ยัยดำ ยัยน่องเผละ พุงทะลัก แต่มันคือการดูถูกสิ่งที่เรานับถือ โดยที่คนในสังคมนี้ ไม่ได้รู้จักหรือเข้าใจสิ่งที่เขากำลังล้อเลียนด้วยซ้ำ
อันที่จริงเราไม่ใช่คนเคร่งศาสนา เป็นชาวพุทธทั่วไปที่นับถือตามครอบครัว รู้หลักพุทธศาสนาตามหลักสูตรวิชาสปช. แต่มันทำให้เราหงุดหงิดใจมาก อาจเพราะยังอยู่ในวัยฮอร์โมนว้าวุ่น เลยพยายามโต้กลับเป็นบางครั้ง ทั้งด้วยการเงียบและการไม่เงียบ (ซึ่งส่วนใหญ่ถ้ามาแซวตอนเมนส์มามักจะเงียบไม่ลง)
แต่มันกลับไม่ช่วยอะไร เพราะเราอยู่ท่ามกลางผู้คนที่เกิดในวัฒนธรรมแห่งการช่างปะไร…ก็การแซวกันเล่นแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดาไม่ใช่หรอ?
อาจารย์เฟเฮร่า อาจารย์สอนคณิตศาสตร์ผู้น่ารัก วัย 80 กว่าๆ เคยถามเราในชั้นเรียนว่า “ไม่ชอบอะไรในประเทศบราซิล?” เราตอบกลับไปตรงๆ ท่ามกลางเพื่อนในห้องกว่า 50 คนว่า “การล้อเลียนค่ะ เรารู้สึกว่าคนบราซิลควรจะ Respect กันมากกว่านี้ ไม่ใช่ทุกคนที่โอเคกับการล้อเลียนศาสนา หรือล้อเลียนประเทศของเขา” อาจารย์เห็นด้วย และหันไปสอนนักเรียนว่า ธรรมชาติของคนบราซิลคือการล้อเล่นกับทุกเรื่อง แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะขำไปกับเรา นี่เป็นสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรที่จะปฏิบัติกับเพื่อนมนุษย์เลย
แต่หลังจากนั้นกลับกลายเป็นว่า เพื่อนบางคนเริ่มหันเข้าสู่ #ทีมแซว ไปด้วย
อาจารย์เฟเฮร่าและเพื่อนๆ ชาวบราซิล
ยิ่งเพื่อนคนอื่นเพิกเฉยกับความวุ่นวายใจของเรา เรายิ่งหงุดหงิด แต่อย่างว่า…คนรอบตัวเราไม่ได้อยู่ในบรรทัดฐานและวัฒนธรรมสังคมแบบเดียวกันมาก่อน อย่างมากก็บอกให้เราอย่าใส่ใจ ปล่อยไปเหอะนะ มันเป็นความรู้สึกหัวเดียวกระเทียมลีบมากๆ เราคิดว่าสิ่งที่เราเชื่อมันถูกต้องสุดหัวใจ แต่ไม่มีใครที่นี่ที่จะคิดแบบเรา ไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่ากำลังทำร้ายเราอยู่
ถ้าชีวิตประจำวัน (ที่มักจะถูกตอกย้ำด้วยประจำเดือน) ของเราเมื่อ 9 ปีที่แล้วคือการระงับสติอารมณ์กับวัยฮอร์โมนที่พลุ่งพล่าน ด้วยแรงกระตุ้นของ Culture Shock
ทุกวันนี้ มันก็คือการสงบสติอารมณ์กับหลากหลายเหตุการณ์ใน Social Network ที่มักจะมาถล่มความรู้สึกของคนคิดมากอย่างเราโดยไม่รู้ตัว
แม้การช่วยกันต่อต้านการ Cyberbullying จะเป็นเรื่องที่ดีแต่ไม่ใช่ว่ามันจะแก้ปัญหาได้ในเร็ววัน กว่าที่ทุกคนจะมาอยู่ในบรรทัดฐานของสังคมออนไลน์เดียวกัน อาจจะต้องเปลืองกระแสความรู้สึกไปอีกมาก ทุกวันนี้ยังมีคนอีกมากที่ยังไม่รู้ตัวเลยว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังทำ มันคือ Cyberbullying มาตรฐานทางสังคมออนไลน์ต้องใช้เวลาจัดระเบียบอีกยาวนาน
ดังนั้นเราจึงคิดว่านอกจากจะเรียนรู้ที่จะไม่เบียดเบียนใครแล้ว เรายังต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับมันไปในตัวด้วย เพื่อความแข็งแกร่งของจิตใจเราเอง เพราะจากนี้ไปก็เทคโนโลยีก็จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เราต้องมาเรียนรู้กันอีกหลายซีซั่น
เราอาจต้องเริ่มเรียนรู้ที่จะแยกแยะว่าคอมเมนท์ไหนที่จริงใจ คอมเมนท์ไหนแซะเพราะหมั่นไส้
เรียนรู้ที่จะจัดการกับความอ่อนแอในจิตใจ ที่สั่นคลอนไปตามตัวเลขหรือตัวอักษรของคนที่อาจจะไม่ได้ใส่ใจ
เรียนรู้ที่จะต่อกรกับ Hater ที่สาด Hate Speech อย่างมันส์มือเกินเลยความจริง
เรียนรู้ที่จะป้องกันตัวเอง เช็คให้แน่ใจว่าข้อมูลไหนควรปิด ข้อมูลไหนควรปล่อย
เรียนรู้ที่จะวิเคราะห์สารที่ได้รับ เพราะบ่อยครั้งก็ก็ถูกแทรกแซมด้วยความเท็จและความสะเพร่า
และที่สำคัญ…เรียนรู้ที่จะตามให้ทันเทคโนโลยี ไม่ปล่อยให้มันวิ่งเลยไปไกล ในขณะที่จิตใจเรายังไม่แข็งแรงพอที่จะรับมือกับมัน
ประสบการณ์ในบราซิล 1 ปีเป็นเรื่องที่ดีมากและให้อะไรกับเราหลายอย่าง
ชีวิตประจำวันก็ไม่ต่างกัน อยู่ที่ว่าเราจะเรียนรู้กับมันได้ขนาดไหน หรือจะปล่อยอารมณ์ให้โคลงเคลงไหลไปตามกระแสดราม่าในสังคม
สุดท้ายนี้ ขอมอบเพลงเพลงหนึ่งจากหนังรอมคอมเรื่องโปรดให้ “What the world needs now is Love” ของ Jackie de Shannon ที่ถูกปล่อยมาตั้งแต่ปี 1965 แต่มาจนทุกวันนี้ก็รู้สึกว่า Love ที่โลกได้รับก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี และถ้าจะให้แปลงเนื้อไปตามยุคสมัยก็อยากจะบอก Lord ว่า Lord, we don’t need another channels, there are Facebook and Twitter enough to share…
Sound of the Text