Mourning Drum Circle จังหวะความเศร้าแด่พระเจ้าแผ่นดิน

Mourning Drum Circle จังหวะความเศร้าแด่พระเจ้าแผ่นดิน

1…2…3…4…ตึ่ง ตะตึ่ง ตึ่ง!

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา กิ๊กได้มีโอกาสไปร่วมงาน Drum Circle ที่โรงแรม Zenith Sukhumvit จัดโดยทีมงานจากร้านย่งเส็ง หนึ่งในร้านขายเพอร์คัสชั่นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย โดยมีคุณ John Fitzgerald ซึ่งเป็น Endorser จากแบรนด์ REMO เป็นคนนำ Drum Circle

ตอนแรกทางทีมผู้จัดกะจะจัดให้เป็น Drum Circle Party แต่ด้วยเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่สร้างความเสียใจให้คนไทยทั้งประเทศเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ทำให้ต้องเปลี่ยนรูปแบบจาก Party กลายเป็น Workshop บำบัดความทุกข์แทน

เพราะด้วยอารมณ์ในตอนนั้น คงไม่มีใครเฮฮา ร้องร่ำทำเพลงสนุกสนานไปกับเสียงกลองได้แน่ๆ

งานเริ่มประมาณ 9 โมงครึ่ง ค่าร่วมงานประมาณ 1,000 บาท กิ๊กไปสายเล็กน้อย ตรงทางเข้ามีชุดเพอร์คัสชั่นน่ารักๆ ให้เลือกกลับบ้านไปคนละเซ็ต ยังไม่ทันจะเข้าห้องก็ได้ยินเสียงอึกทึกมาจากข้างใน

เปิดประตูเข้าไปก็พบคนประมาณ 40 กว่าคน นั่งเรียงกันเป็นวงกลมซ้อนกัน 2 วง กำลังตีเพอร์คัสชั่นกันอยู่ ภายใต้แสงไฟสลัวๆ ของห้องบอลรูม ทุกคนสวมชุดดำ กำลังนั่งง่วนกับเครื่องดนตรีตรงหน้า บางคนเล่นเครื่องเล็ก บางคนเล่นเครื่องใหญ่ เรารีบเข้าไปแจมอย่างไม่รอช้า

เป็นภาพที่แปลกตาไม่เบา นี่ไม่ใช่ Drum Circle แรกที่กิ๊กเคยไป ปกติเราจะเห็นคนนั่งล้อมเล่นกันเป็นวงสนุกสนาน เต้นเร้าไปมา โซโล่โต้ตอบคุยกันเสียงแหลมเย้วๆ แต่ที่อยู่ตรงหน้านี้ใบหน้าของทุกคนเรียบนิ่งไปกับเสียงจังหวะมีเดียมค่อยเป็นค่อยไปและเสียงต่ำๆ ของ Bass Drum จนน่าแปลกใจ

The Mourning Drum Circle

คุณ John ถามทุกคนว่ารู้สึกอย่างไรบ้างที่ได้เล่นเมื่อสักครู่ ส่วนใหญ่ตอบว่า “ผ่อนคลาย” “สงบ” เหย… กิ๊กไม่เคยเห็นที่ไหนที่คนไปตีกลองโซโล่ใส่กันแล้วบอกว่ารู้สึกสงบเลยนะ ออกจะงงนิดๆ นี่เกิดไรขึ้นฟระ?

ทุกอย่างมาเฉลยเอาก่อนที่เราจะเริ่ม Session ต่อไปกัน คุณ John ให้เราสลับเครื่องดนตรีกับคนข้างๆ และบอกให้ทุกคนหลับตาและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงเป็นเวลา 2 นาที ทุกคนนั่งกันสงบนิ่งจนเราได้ยินเสียงคนสะอื้นไห้จากอีกฝั่งฟากของวงกลม และแล้วเสียง Bass Drum ก็ดังขึ้น

ตู่ม ตู่ม ตู่ม…

รอบนี้สำหรับกิ๊กความรู้สึกช่างต่างจากรอบแรก ทุกตัวโน๊ตแลดูมีความหมายขึ้นมา เราใส่ความรู้สึกเศร้าที่อัดอั้นลงไปกับมัน เราไม่ได้เล่นจังหวะเร็วๆ เหมือนที่เคยเล่นในงานอื่นๆ Drum Circle เป็นไปอย่างเรียบง่ายในบีทช้าๆ แต่เต็มไปด้วยความรู้สึก ผิวกายเราชื้นเหงื่อเบาๆ อย่างประหลาด

รอบนี้เมื่อคุณ John ถาม เราเป็นหนึ่งในคนที่ตอบว่ามันรู้สึก “ปลดปล่อย” และ “ผ่อนคลาย” เหมือนได้แบ่งปันความเศร้าร่วมไปกับคนในวงทั้งหมด

หลังจากได้พบปะพูดคุยกับคนในคลาส ก็พบว่าคนส่วนใหญ่ที่มาไม่ใช่มือกลองหรือมือเพอร์คัสชั่น แต่กลับเป็นนักบำบัดซะแทบทั้งห้อง มีเพอร์นับหัวได้ประมาณ 4-5 คนเท่านั้น (อ่าว…)

พี่โอเล่ มือเพอร์ลูกค้าประจำย่งเส็ง – กิ๊กเอง – พี่ลี่ ทีมงานย่งเส็ง – พี่โจมือเพอร์วงสหายแห่งสายลม

หนึ่งในนั้นมีฝรั่งคนหนึ่งที่ทำ Drum Circle อยู่ที่ภูเก็ต แต่บินมากรุงเทพเพื่อจะเรียนรู้หลักการทำ Drum Circle ไปใช้กับทีมที่ภูเก็ตของเขา โคตรหล่อเลย (5555 ยังไงน่ะนังกิ๊ก)

คุณ John บอกว่าเราเกิดมาพร้อมจังหวะ ไม่ว่าจะเด็กเล็กแค่ไหน เรามีจังหวะการเต้นของหัวใจ จังหวะการเดิน จังหวะการหายใจ อยู่ในทุกช่วงชีวิต หลักใหญ่ๆ ของ Drum Circle ไม่ยาก มีอยู่ 4 อย่าง

ไม่ “เสียงสูง” ก็ “เสียงต่ำ”
ไม่ “เร็ว” ก็ “ช้า”
ไม่ “ดัง” ก็ “เบา”
ไม่ “มีเสียง” ก็ “เงียบงัน”

อนึ่ง ความเงียบนั้นก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของเสียงดนตรีเหมือนกัน

ศาสตร์ของการทำ Drum circle ไม่ได้มีไว้เพื่อแค่ความสนุก แต่ยังให้อะไรหลายๆ อย่างกับเราด้วย บริษัทดังๆ หลายแห่งในอเมริกาให้เขาเข้าไปทำ Workshop เพื่อสร้างความสัมพันธ์ของพนักงานและช่วยบิวท์ทีมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

คุณ John บอกว่า เราสามารถบ่งบอกได้ว่าใครเป็นผู้นำหรือผู้ตามจากการเล่นและการเลือกเครื่องดนตรีของเขา คนที่มีความกล้า ความมั่นใจ จะเลือกเครื่องเพอร์คัสชั่นชิ้นใหญ่ๆ แต่บางคนที่ต้องการความปลอดภัยหน่อย ก็จะเลือกเครื่องเล็กๆ อย่าง Shaker (ไข่เขย่า) หรือ Tambourine (แทมโบรีน)

การทำ Drum Circle ต้องอาศัยประสบการณ์ เขาบอกว่าถ้าทำให้เด็กๆ เล่น อาจจะเล่นกันยาว 20-25 นาทีแล้วพัก แต่ถ้าทำให้ผู้ใหญ่เล่นต้องดูระดับก่อน ถ้าเป็น CEO อาจได้แค่ 5 นาที (หัวเราะ) ใช่ที่ไหนล่ะ… อาจทำได้ถึง 1 ชั่วโมง…!

สำหรับเด็กพิเศษ การนำ Drum Circle ไปบำบัด จะช่วยเรื่องการโฟกัสกับพวกเขาได้ เด็กที่พิการทางด้านต่างๆ ก็สามารถบำบัดไปด้วยเสียงและการแสดงออกด้วยวิธีนี้ได้เช่นกัน

แต่การทำ Drum Circle ทุกครั้งแตกต่างกัน เพราะคนในวงต่างกัน สถานการณ์ความสัมพันธ์แตกต่างกัน อีกทั้งจุดมุ่งหมายในการทำก็แตกต่างกัน ดังนั้นต้องอาศัยประสบการณ์สูง ทุกครั้งที่เขาทำจึงจะไม่มีสคริปต์ ต้องอาศัยการสังเกตคนในวงอย่างมาก

คุณ John แนะนำเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น พวกเราแจมกันรอบวง ตีโต้ตอบกันทีละฝ่ายอย่างเรียบง่าย ระบายความทุกข์กันไปมาอีกสัก 2 Sessions Drum Circle ในวันนี้ก็จบลง

เครื่องดนตรีจากย่งเส็ง

พี่ลี่ ทีมผู้จัดงานจากย่งเส็งบอกว่า ทางทีมงานลำบากใจมากเรื่องการจัดงานครั้งนี้ เลื่อนก็ลำบากเพราะคุณ John เองก็เดินทางมาถึงแล้ว โชคดีที่คุณ John บอกว่าเขาเคยทำดนตรีบำบัดความทุกข์ ความโศกเศร้ามาก่อน จึงเปลี่ยนจาก Drum Circle Party เป็น Mourning Drum Circle

แต่ครั้งนี้อาจจะยากเสียหน่อย เพราะทุกข์จากการสูญเสียพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักของคนทั้งประเทศ เป็นทุกข์ที่ยิ่งใหญ่อย่างที่เขาไม่เคยเจอมาก่อน และสิ่งที่เขาได้เห็นวันนี้ ก็พิสูจน์ได้ชัดว่าคนไทยรักในหลวงมากๆ

นั่นทำให้เขารู้สึกได้ว่าพระมหากษัตริย์ของชาติเราคงสรรค์สร้างอะไรไว้ให้กับประเทศชาติมากมาย คนไทยถึงได้รักพระองค์ท่านถึงเพียงนี้

Drum Circle ครั้งนี้แตกต่างจากหลายๆ ครั้งที่เคยไป แต่ก็ให้อะไรที่แตกต่างกับกิ๊กกลับมา แม้เราจะเดินเข้ามาในงานพร้อมความเศร้า แต่กลับถูกเสียงดนตรีเสียงกลองช่วยบำบัดความรู้สึกหนักๆ ออกไป

อีกอย่างการได้เล่นดนตรีด้วยกัน ก็ทำให้เราได้รู้จักเพื่อนใหม่ในวงกลองนี้ไปอย่างง่ายดาย ได้ปลดเปลื้องความทุกข์ผ่านเสียงกลองร่วมกับคนอื่นๆ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่มาก

ขอบคุณทีมงานย่งเส็งและคุณ John Fitzgerald มากค่ะ ขอเป็นกำลังใจให้จัดงานดีๆ อย่างนี้ต่อไปนะคะ ?

ถ่ายคู่กันซักหน่อย ^^

เอ้า!

1…2…3…4…

ตึ่ง!

ถวายความอาลัย

ผ่านเสียงกลอง

โดย ฟูฟู