เนื่องจากช่วงนี้มีนักดนตรีหลายคน กำลังประสบความลำบากในเรื่องงาน อาชีพเราๆ อาจเป็นอาชีพที่ไม่แน่นอนมั่นคงเท่าไหร่นัก FOOFOO เลยลองไปสอบถามเรื่องวิธีหารายได้เสริมต่างๆ จากเพื่อนๆ พี่ๆ นักดนตรีด้วยกันมาแบ่งปันค่ะ
ใครมีวิธีดีๆ ก็แนะนำกันเพิ่มได้นะคะ หวังว่าคอนเทนท์นี้จะช่วยให้ไอเดียกับเพื่อนนักดนตรีด้วยกันได้นะคะ ^^
สอนดนตรี
เป็นหนึ่งในทางเลือกที่เหมาะกับนักดนตรีอย่างพวกเรามากกิ๊กเลยเอาคำแนะนำจากพี่วิน – The Ginkz ที่สอนดนตรีที่โรงเรียน Rockademy และกำลังเปิดคอร์สของตัวเองอยู่ รวมทั้งพี่เอิร์ท Mellow Motif ที่เคยสอนตามโรงเรียน แต่ตอนนี้เปิดสอนเองในห้องคอนโดค่ะ
พี่วิน – ตอนเริ่มสอนใหม่ๆ ผมไปทิ้งใบสมัครสอนดนตรีไว้ตามที่ต่างๆ เสนอหน้าให้เยอะที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสให้ตัวเอง เช่น ตามโรงเรียน KPN หรือ YAMAHA เราอาจจะไม่ได้งานทันทีหรอก แต่ถ้ามีครูลาเค้าก็จะเรียกเราไปลองสอน และถ้ามันเวิร์ค เราก็อาจจะได้งานมา
จริงๆ แล้วอยากแนะนำให้เริ่มสอนจากคนใกล้ตัว ที่อยากเรียนก่อน เพื่อดูฝึกดูความอดทนอดกลั้นตัวเอง ก่อนจะไปเจอของจริง หาวิธีอธิบายสิ่งที่ตัวเองเล่นให้ได้ดีและใจเย็นๆ
เพราะส่วนมากตามโรงเรียนสอนดนตรี คนที่จะมาเรียนจะเป็นเด็กๆ เล็กๆ ที่บางครั้งจะให้เขาอยู่นิ่งๆ ก็ยาก บางคนไม่ได้อยากเรียน พ่อแม่ต่างหากที่อยากให้มาเรียน เราเองก็อยากสอนให้เขาได้อะไรกลับไปทุกครั้งที่มาเรียนด้วย ความอดทนจึงสำคัญมาก
พี่เอิร์ท – สำหรับคนที่เรียนดนตรีมาโดยตรง อาจจะมีพื้นฐานในสิ่งที่เรียนมาอยู่แล้ว ก็จะสามารถเรียบเรียงสิ่งที่เรียนมาได้ง่ายขึ้น ควรจะวางแผนดีๆ ครับ ว่าจะสอนเรื่องไหนก่อนหลัง เพื่อจัดระเบียบให้การสอนของเรา นอกจากนี้การสอนยังไม่ได้จำกัดอยู่แค่ตัวต่อตัวครับ เรายังสามารถทำคลิปสอนเทคนิกการตีในโลกออนไลน์ได้ด้วยครับ
ขับรถ
เราอาจเคยได้ยินว่านักดนตรีบางคนก็มีอาชีพเสริมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับวงการดนตรีด้วยเหมือนกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ค่ะ
สมัยนี้เพียงแค่มีรถของตัวเองก็สามารถขับให้บริการได้หมดไม่ว่าจะเป็น UBER, Grab หรือ Line Man หรือหากไม่มีเช่ารถตามอู่เอาก็ยังได้
วันนี้กิ๊กเอาคำแนะนำจากพี่เอ๋ อดีตมือดับเบิ้ลเบสที่ตอนนี้มีอู่แท็กซี่เป็นของตัวเองด้วยมาฝากค่ะ
พี่เอ๋ – ก่อนอื่นต้องไปทำใบขับขี่รถสาธารณะให้เรียบร้อยนะ ผมแนะนำว่าคนที่อยากมาทำตรงนี้ ควรจะลองก่อน ลองให้รู้ว่าอาชีพนี้ผ่านมั้ยสำหรับเรา เลยอยากแนะนำให้เริ่มจากการเช่าแท็กซี่ก่อนดีกว่า
เพราะหลายคนเริ่มต้นจากดาวน์รถเอง เจอผู้โดยสารเยอะบ้าง รถติดบ้าง หลายปัจจัยก็เริ่มท้อ เริ่มเบื่อ เพราะไม่เหมือนที่คิดไว้ สุดท้ายก็ต้องหาคนมาซื้อต่อ
ค่าเช่ารถใหม่ ประมาณ 600-650 บาทต่อกะ หรือถ้าเช่าควง (เช่าเป็นวัน) เลยก็ประมาณ 1,000 นิดๆ
ถ้าเป็น “กะเช้า” ทั่วไป ก็จะแบ่งเป็นตีสองถึงบ่ายสอง และหกโมงเช้าถึงตีสอง ส่วน “กะกลางคืน” จะเป็นช่วงบ่ายสอง
ซึ่งจะลำบากสำหรับนักดนตรี เพราะรอบจะไม่ค่อยพอดีกับการเล่นร้านกลางคืนเท่าไหร่ ไหนจะต้องเอารถไปคืนเค้า ต้องไปขับรถเรากลับ หรือนั่งแทกซี่ไปทำงานอีก
ต้องไปหาคู่กะที่พอดีกับเรา หรือ เช่าควง (เช่าเป็นวัน) ไปเลยแล้วแต่อู่กำหนด รถเก่าราคาควงก็ประมาณ 600-650 บาท
ถ้าทำได้ค่อยคิดว่าหลังจากนี้เราจะทำเต็มเวลามั้ย หรือยังเล่นอยู่ และทำไปด้วย
การลง GRAB ไว้ ก็ทำให้เราสะดวกขึ้นอีกทางหนึ่งเหมือนกัน
แต่ต้องทำใจหน่อยนะ อยู่บนเวทีเราเหมือนจะมีค่า มีแต่คนปรบมือให้ แต่พอเรามาอยู่ในอาชีพโชเฟอร์เนี่ย มันต่างกัน ผู้โดยสารบางคนก็จู้จี้จุกจิก ต้องอดทน ต้องรับได้ ต้องตัดภาพการอยู่บนเวทีตรงนั้นออกไปเลย
เหมือนเราเป็นนักแสดง ตอนนี้เรากำลังสวมบทบาทไหน เป็นมืออาชีพต้องคิดให้ได้ครับ
เขียนคอลัมน์ดนตรี
อีกหนึ่งเส้นทางที่ทำได้โดยอาศัยความรู้ด้านดนตรีที่มีอยู่แล้วเป็นทุนเดิม เอาคำแนะนำจากพี่บ๋อม ร้อยวง Potato, Supersub, 10th Saturday ฯลฯ ที่นอกจากจะเป็นมือกลองสุดเมพยังเป็น DJ วิทยุ, คอลัมนิสต์ ให้กับแม็กกาซีนกลองหลายๆ เล่ม และเปิดโรงเรียนสอนดนตรีเป็นของตัวเองด้วยค่ะ
พี่บ๋อม – เราค่อนข้างเตรียมการเพื่อทุกเหตุการณ์อยู่เสมออยู่แล้ว เพราะอาชีพเราอยู่บนความไม่แน่นอนเลยต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ ถ้าเราเห็นดนตรีเป็นอาชีพที่สอง เราจะทำดนตรีสบายใจขึ้น เพราะรู้สึกอิสระขึ้นในการทำงาน ไม่กดดันว่าต้อง Make Money กับมันตลอดเวลา
อย่างงานเขียน ผมเริ่มจากลองเขียนเล่นๆ ลงโซเชียลเน็ตเวิร์กก่อนครับ ตอนแรกสุดเลยก็คือ เขียนลง Hi5 (ยุคนั้นยังเป็น Hi5 อยู่เลย) พอเขียนไปเรื่อยๆ คนรอบตัวก็เห็นว่าเราทำได้ ก็ลองชวนเราไปเขียนจริงจังครับ ตอนนี้ก็เขียนให้กับ Drumnote Magazine กับ BLAST อยู่
เราไม่ต้องรอให้มีงานเข้า แต่เริ่มเขียนเองได้เลย ถ้าคนอื่นชอบเค้าก็จะเข้ามาหาเราเองครับ ทันเป็นงานที่ต้องใช้ต้นทุนความขยันของเราเองมากกว่า
ตอนเริ่มเขียนแรกๆ จะไหลลื่นมาก เพราะวัตถุดิบในหัวจะมีเยอะอยู่ แต่พอเขียนมากแล้ว ก็ต้องออกไปหาวัตถุดิบเพิ่มบ้าง แต่ในช่วงเวลาอย่างนี้ ก็มีข้อดีนะ มันมีโอกาสให้เราได้ทบทวนความคิดและหยิบมาเขียนเยอะขึ้น หรือมีเวลาให้ค้นคว้าเรื่องที่อยากเขียนเยอะขึ้น
ที่สำคัญควรหาสไตล์ของตัวเองให้เจอ เขียนให้สนุก เป็นสายจริงจัง หรือสายรั่ว วางสไตล์ให้ชัดๆ ไปเลย คนอ่านจะได้จดจำตัวตนเราได้ครับ
ดีเจ
อาชีพเสริมที่คนสายดนตรีหลายๆ คนปรารถนา ขอยกตัวอย่างพี่บ๋อมอีกเช่นเคยค่ะ หนึ่งตัวอย่างจากนักดนตรีพูดไม่เก่ง ที่หาตัวตนจนกลายมาเป็นดีเจรายการวิทยุได้ค่ะ
พี่บ๋อม – การเริ่มต้นเป็นดีเจ อาจต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในกลุ่มนั้นให้ได้ก่อน เพราะยุคนี้เป็นยุคของ Connection ถ้าเราชอบอะไร เราต้องเอาตัวเราเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้นให้ได้
อย่างพวกเพจเพลง เราสามารถเข้าไปแจมหรือไปพูดคุยกับเขาได้ ถ้าเราน่าสนใจจริง เราจะถูกเห็นเอง
เดี๋ยวนี้เราทำอะไรของเราเองได้เลยไม่ว่าจะเป็น Facebook Live, Youtube Channel, Fanpage อย่างที่บอกทุกคนมีสนามซ้อมของตัวเองอยู่ที่หน้าจออยู่แล้ว ยุคนี้มันไม่ได้มีแต่คลื่นวิทยุ ถ้าเข้าไม่ได้ก็จบเลยแบบนั้นแล้ว
สำหรับพี่เป็นคนจัดการวิทยุต้องเป็นนักฟังด้วย บางครั้งการที่เราเป็นนักดนตรีเราโฟกัสกับการทำเพลง แกะเพลง จนไม่ได้มีเวลาไปฟังอย่างอื่นที่เราอยากฟัง
ต้องฟังเพลงโดยรวม ไม่ใช่เพลงที่เกี่ยวกับของตัวเองเป็นหลัก ศึกษาเทรนด์ดนตรี แฟชั่น ตัวบุคคล เบื้องลึกเบื้องหลังของดนตรีด้วย เพราะมันจะทำให้เรามีเรื่องที่เอาไปเล่าให้กับผู้ฟังได้ดี
การเป็น DJ ต้องฝึกเรื่องพูดให้เก่ง ตอนแรกพี่ก็มีปัญหาเรื่องพูดไม่เก่ง เพราะเราไม่ใช่สายพูดคุยเรื่องจิปาถะ เลยอาศัยเรื่องความรู้เกี่ยวกับเพลงและศิลปิน ก่อนจะออกแต่ละเทปก็เตรียมตัวนานมาก จนกลายเป็นสไตล์ของเราไปเลย
ปลูกผัก
อีกหนึ่งอาชีพที่มีข้อดีหลายอย่าง เพราะนอกจากผลิตผลที่ได้ยังเอาไปขายได้ เราก็ยังมีเก็บไว้ทานยังชีพตัวเราเองได้อีกด้วย เรื่องนี้กิ๊กได้ไปขอคำแนะนำจากพี่โอ๋ P2Warship นักร้องนักดนตรีที่ดำเนินวิถีชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงค่ะ
พี่โอ๋ – วิธีเริ่มต้นปลูกผักมีอย่างหนึ่งที่พี่แนะนำ ลงทุนไม่มากและทำไม่ยาก ก็คือ การเพาะต้นออนทานตะวัน ลงทุนทั้งซื้อดิน ซื้อถาด ซื้อเมล็ดไม่เกิน 200 บาทครับ ปลูกง่าย โตไว ไม่นานก็เก็บเกี่ยวทานได้เลย
เริ่มแรกก็ซื้อมาจำนวนน้อยๆ ก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นเมล็ดที่ปลูกขึ้น ซื้อจากร้านอาหารสัตว์ก็ได้ แต่ที่ซื้อที่ 7-11 มันเป็นเมล็ดใหม่ อันนั้นจะปลูกไม่ขึ้น ดินปลูกก็ซื้อถูกๆ พอครับ
พอผลผลิตงอกเป็นต้นแล้ว อยากแนะนำให้ลองวิธีตามพระราชดำรัสของในหลวงดูครับ พระองค์ท่านเคยตรัสไว้ว่า “ทำกินก่อน เหลือค่อยขาย”
ตอนแรกผมก็ทำตามนั้น เหลือจากกิน ก็แบ่งปันเพื่อนๆ เหลืออีกก็ขาย หลังจากนั้นผมก็ได้รับของแบ่งปันจากเพื่อนๆ กลับมามากมายด้วยเช่นกัน
วิธีขายก็ง่ายๆ ครับ ลองไปตกลงกับร้านใกล้บ้าน พวกร้านข้าวต้นดู ว่าเขาสนใจมั้ย ลองให้เขาฟรีไปลองผัดดูก่อนก็ได้ ถ้าสนใจก็มาซื้อต่อๆ จากเราไปได้นะ
เกษตรกรเป็นแนววิถีชีวิตที่ยั่งยืนครับ เพราะอย่างน้อยเมื่อเราไม่เหลืออะไร สิ่งเดียวที่ทำให้เราดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้คืออาหารครับ
ขายอาหาร
เรื่องการขายอาหารในวงการนักดนตรี คงขาดชื่อพี่บอม ภูมิจิตไปไม่ได้ ผู้คิดค้นเมนูดังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ข้าวแกงกะหรี่ กะเพราเก้านิ้ว หรือไอสลัดก็มีคอนเซปต์ในการตั้งชื่อทั้งนั้น ส่วนใหญ่เราจะพบเห็นเขาตามงานเทศกาลดนตรีต่างๆ
พี่บอม – สำหรับขายอาหารในช่วงนี้ค่อนข้างลำบากนิดหนึ่ง อย่างแรกเลยคือไม่มีงานอีเวนท์ให้เราไปออกเท่าไหร่ อีกอย่างก็คือติดฝน ออกไปขายของยากตามตลาดต่างๆ ค่อนข้างยากประมาณนึง
แต่ละตลาดก็มีวิธีการขายที่ต่างกัน เราต้องศึกษาตลาดก่อน อย่างตลาดนัดรถไฟการขายของกินค่อนข้างยาก เพราะของกินมันเยอะมาก ขายซ้ำกันก็เยอะ แถมคนส่วนใหญ่ที่มาเดินก็คิดจะเก็บท้องไว้กินของใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าดังของที่นั่นซะมากกว่า
แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเคยทำแล้วเวิร์คมากก็คือ ขายอาหารผ่านเฟสบุค ผมเริ่มจากรีเสิชดูตามกูเกิ้ลว่าอะไรที่ต้นทุนไม่สูงมากและพอจะขายได้ อาจเป็นของกินเล่นแค่อิ่มๆ ก็พอ อย่างโคลสลอว์ก็ดูยังไม่มีขาย ผมเลยลองทำกินเองแล้วแชร์ลงเฟสบุคให้เพื่อนๆ เห็น
เพื่อนๆ เราก็เริ่มสนใจเริ่มสั่งให้เราเอาไปเดลิเวอรี่ให้ ตอนนั้นขายได้วันละ 60-70 กระปุกเลย ผมก็จับมือกับเพื่อนที่ขับมอเตอร์ไซค์คนนึงให้เค้าช่วยส่ง แต่ก็เลิกไปช่วงหน้าฝนเช่นกัน
ซึ่งการขายทางออนไลน์ก็สะดวกกว่าตรงที่ไม่มีค่าเดินทางจัดร้าน ไม่เสียค่าที่ วุ่นวายแค่แพ็คของ เสียค่าส่ง เพราะไม่มีต้นทุนเรื่องค่าเช่าที่ จะเสียก็แค่ค่าไฟกับค่าเน็ต
ขายของ
อีกหนึ่งวิธีที่ทำได้เรื่อยๆ เมื่อเรามีเวลาพอจะเปิดร้านก็คือ ขายของต่างๆ เสื้อผ้า เครื่องใช้ ของมือสอง พี่บอม ภูมิจิต ก็เชี่ยวชาญเรื่องการยังชีพด้วยการเป็นเซียนขายของชั้นหนึ่งอยู่แล้ว จะมาแนะนำเรื่องนี้เพิ่มค่ะ
พี่บอม – แต่ก่อนเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วผมเคยลองเอาเครื่องดนตรีกับของเล่นมาขาย อย่างแรกเลยคือเราต้องศึกษาของๆ เราดีๆ รุ่นอะไร มีความพิเศษอย่างไร รุ่นนี้ขายได้บ้างหรือเปล่า บางครั้งเรารู้เรื่องมันเยอะเข้าเราก็เสือกไม่อยากขายมันขึ้นมาซะงั้นด้วย
อันนี้เคยได้ยินมา(แต่ไม่เคยทำ) ว่าที่จตุจักรตอนกลางคืนวันศุกร์ เป็นวันที่เขาขายส่งกัน เราสามารถใช้วิธีขายแบบกองโจรได้ แค่หอบของไปตอนช่วงหกโมงเย็นถึงสามทุ่ม ซึ่งเป็นช่วงชุลมุนเค้าลงของกัน
ตรงไหนว่างวางเลย ถ้ามีเจ้าของมาเค้าก็จะไล่เราเอง เราก็ไปหาที่ใหม่เรื่อยๆ สาเหตุก็เพราะการจองที่ขายที่นั่นค่อนข้างใช้เวลา มีคนจองอยู่ก่อนเยอะแล้ว เห็นคนเค้าพูดกันต่อมานะ แต่เราก็ไม่เคยทำ
อีกที่หนึ่งที่แนะนำสำหรับตลาดของมือสอง ก็คือ ตลาดปัฐวิกรณ์ แถวนวมินทร์ ขายวันเสาร์-อาทิตย์ เป็นตลาดของมือสองเลย ไม่ต้องจัดร้านอะไร วางของสุมๆ กันไว้ได้เลยเดี๋ยวคนจะมารุมทึ้งกันเอง แต่ต้องจองล็อกให้เรียบร้อยก่อนนะ ซึ่งก็ไม่ยากเท่าไหร่
*********
วันนี้กิ๊กมีมาฝากเพียงเท่านี้ค่ะ ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าอาชีพเราเป็นอาชีพที่ไม่แน่นอนเท่าไหร่ ชีวิตก็เช่นกัน อาจเกิดเหตุการณ์อะไรในชีวิตเราขึ้นได้อยู่เสมอ นักดนตรีจึงควรเตรียมตัวให้พร้อมตลอด อย่างน้อยก็ควรหาทางวิธีป้องกันระยะยาวเอาไว้ด้วย
ถ้าลองทำตามพี่ๆ เพื่อนๆ นักดนตรีแล้วประสบปัญหายังไงลองเข้าไปถามพี่ๆ เค้าได้นะคะ อาจจะสร้างรายได้ไม่ได้ในทันที แต่เชื่อว่าถ้าเราสู้กันต่อไป เราต้องผ่านไปได้แน่นอน
ใครมีอาชีพอื่นเสริมอื่นๆ มาแบ่งปัน ลงไว้ได้ในคอมเมนท์เลยนะคะ ?
ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับดนตรีได้เรื่อยๆ ที่ www.foofoo.me นะคะ ^^
หรือเข้าไปที่ Facebook Fanpage ก็ได้ www.facebook.com/kickyfoofoo