เขียนต่อจากบทความของกิ๊กกี้ก่อนหน้านี้ที่ https://www.foofoo.me/5-things-about-congas/
สำหรับคนที่รู้อยู่แล้วว่ากลองนี้เรียกว่าคองก้า เคยสงสัยมั้ยครับว่าชื่อนี้มากจากไหน? อันที่จริงชื่อกลองนี้มีที่มาที่ไปที่น่าสนใจทีเดียวครับ กลองคองก้านี้แต่เดิมในประเทศคิวบาเขาไม่ได้เรียกกันว่าคองก้า แต่มีชื่อเรียกรวมๆว่า “ทุมบาดอร่า – Tumbadora” หรือถ้าจะให้ละเอียดเลยจะเรียกตามด้านล่างครับ
- เรียกใบเล็กสุดว่า “คินโต้ – Quinto” ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางหน้ากลองประมาณ 11 นิ้ว
*ใบที่เล็กกว่านี้มักเรียกว่า Requinto - เรียกใบกลางว่า “เซกุนโด – Segundo” ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางหน้ากลองประมาณ 11.75 นิ้ว
- เรียกใบใหญ่ว่า “ทุมบ้า – Tumba” ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางหน้ากลองประมาณ 12-12.50 นิ้ว
*ใบใหญ่กว่านี้จะเรียก Super Tumba
หรือถ้าจะให้พูดเรื่องที่น่าสนใจ (และออกนอกประเด็น) ไปมากกว่านี้ ถ้าเราเล่นกลองแค่ 2 ใบ เขาจะเรียกใบใหญ่ว่า “เอมบรา – Hembra” ที่แปลว่าเพศหญิง เพราะกลองเสียงใหญ่อุ่น นุ่มนวล เหมือนลักษณะของเพศหญิง และเรียกใบเล็กว่า “มาโช – Macho” ที่แปลว่าผู้ชาย เพราะเสียงพุ่ง รุนแรง ก้าวร้าว เหมือนลักษณะของเพศชาย หรือพูดรวมๆได้ว่าการเล่นกลองชนิดนี้ ก็คือบทสนทนาที่ตอบกันไปตอบกันมาระหว่างเพศหญิงและเพศชายนั่นเอง (โดยวัฒนธรรมของดนตรี Afro-Cuban แล้ว ลักษณะการถาม-ตอบ ระหว่างสองสิ่งที่ตรงข้ามกันนี้เกิดขึ้นในดนตรี Afro-Cuban เยอะมาก ตั้งแต่เสียง clave, เสียงกลอง, วิธีการร้องหรือแม้แต่ท่าเต้น ถ้ามีเวลาเราจะมาลงรายละเอียดเรื่องนี้กันอีกทีครับ)
Changuito – มือ percussion สาย Afro-Cuban ระดับตำนาน อธิบายว่าเราสามารถเรียกกลอง 2 ใบว่า Hembra และ Macho (สำหรับมือ percussion ที่ยังไม่เคยดูวีดีโอนี้ แนะนำให้เข้าไปตาม link เลยครับ เป็น 1 ในสุดยอด DVD ที่มือ latin percussion ทุกคนควรศึกษา) https://www.youtube.com/watch?v=aI6ggigfQa8 |
(กลับเข้าเรื่อง) แต่เดี๋ยวก่อน ไม่มีใครเรียกกลองนี้ว่าคองก้าเลยนี่ แล้วชื่อเรียกว่าคองก้ามันมาจากไหน?
เรื่องมันเริ่มมาจากคาร์นิวัลในประเทศคิวบาครับ ชาวคิวบานิยมเล่นจังหวะหนึ่งในงานคาร์นิวัลเรียกว่า “คองก้า เด กัมปาร์ซา – Conga de Comparsa” ชื่อจังหวะนี้อาจจะไม่คุ้นหูชาวไทยเท่าไหร่ แต่ผมเชื่อว่าถ้าได้ลองฟังจังหวะแล้ว เราต้องเคยได้ยินจากหนัง หรือการ์ตูนบางเรื่องที่เคยดูแน่ๆ ลองดูตามตัวอย่างด้านล่างนะครับ
ภาพยนต์เรื่อง Mambo King (1992) ช่วงนาทีที 01.15 พระเอกเล่นจังหวะ Conga de Comparsa
สวนขึ้นมาระหว่างดวลโซโล่กับ Tito Puente ทำเอาคนดูตั้งขบวนเต้นกันทั้งคลับเลยทีเดียว
หนังเรื่องนี้จำลองบรรยากาศได้ดีมาก ว่าช่วงที่ Mambo รุ่งเรืองสุดขีดที่อเมริกาบรรยากาศเป็นอย่างไร
มีทั้งแฟชั่น ดนตรี ปาร์ตี้ สุรา เงินตรา มาเฟีย ครบ หรือเรียกสั้นๆได้ว่า “โคตรเท่”
จังหวะ Conga de Comparsa ที่เราอาจจะเคยเห็นการต่อแถวเต้น
แบบช่วงครึ่งหลังของวีดีโอ จากภาพยนต์หรือการ์ตูนฝรั่งบางเรื่อง
จังหวะ Conga de Comparsa ที่เล่นกันตามถนน ใครบอกว่าดนตรีประกอบ
Carnival ที่สนุกที่สุดเป็นของบราซิล ผมว่าคลิปนี้อาจทำให้เราต้องคิดอีกครั้ง
จังหวะ Conga de Comparsa นี้ใช้เครื่องดนตรีจำนวนมากในการเล่น อาทิเช่น บอมโบ้- Bombo (กลองใหญ่ที่ใช้เล่นเสียงเบส), คาวเบลและเครื่องเป่าจำนวนมาก แต่เครื่องดนตรีที่เด่นออกมาเครื่องหนึ่งคือกลองคองก้า ที่ในสมัยนั้นนิยมเอากลองใส่สายสะพายไหล่แล้วเดินเล่น (ท่าทางจะหนักน่าดู)
“เราอยากได้ Compact Conga !!!” – ภาพของชาวคิวบาสะพายกลองคองก้าเดินตีในงานคาร์นิวัล
ทีนี้จังหวะนี้เริ่มเข้ามาโด่งดังในอเมริกาช่วง 1940’s ชาวอเมริกันนั้นก็ไม่ได้ใส่ใจจะเรียกกลองเหล่านี้ตามชื่อเดิมคือ Tumbadora เหมือนที่ชาวคิวบาเรียก กลับเรียกแบบรวมๆ “อ๋อ.. ไอ้กลองที่ใช้เล่นจังหวะคองก้าไง”
…ตั้งแต่นั้นมา กลองนี้จึงได้ชื่อเรียกใหม่ว่า คองก้า
จนในปัจจุบัน Conga (n.) จึงไม่ได้มีความหมายแค่ชื่อจังหวะเท่านั้น แต่หมายรวมถึงตัวกลองด้วย กลายเป็นคำนามที่เปลี่ยนเป็นพหูพจน์ได้ด้วย (Congas หมายถึงกลองคองก้าตั้งแต่ 2 ใบขึ้นไป)
ไม่น่าเชื่อใช่มั้ยครับว่าแค่ชื่อกลองจะมีที่มาที่ไปเป็นเรื่องเป็นราวได้ขนาดนี้ แต่ดนตรีแนว Afro-Cuban นี้เป็นดนตรีพื้นบ้านที่พัฒนามาประมาณ 300-400 ปีแล้วย่อมมีเรื่องราวทางวัฒนธรรมฝังอยู่ในดนตรีมากมาย ถ้ามีโอกาสถัดไปจะมาเขียนเรื่องราวที่ฝังอยู่ในวัฒนธรรมเหล่านี้ให้ได้อ่านกันอีกนะครับ (ว่าจะทำคลิปสอนจังหวะ Conga de Comparsa ด้วย ถ้าใครสนใจก็บอกกันมาได้นะครับ)
*ขอขอบคุณ พี่แอมป์ AMPPER (FB: Nathawut Lee Ampper) สำหรับการตรวจทานข้อมูลด้วยครับ
reference : “A History of Conga Drum” by Nolan Warden